25 พฤศจิกายน วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

VC Library
25 พ.ย. 2563 684 1 นาที


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

         

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2423ได้รับพระราชทานพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ"


       
          เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี" ทรงมีพระเกียรติยศ เป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

       
          ในระหว่างประทับทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขึ้นเป็น "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร"





       
          ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อเวลา 00.45 น. ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดเป็น 2 งานคือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454





       
          ในปี พ.ศ.2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส
กับคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อม อภัยวงศ์) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2468
       

          เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดา ถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 พฤศจิกายน พระราชธิดามีพระชนม์ครบ 1 วัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญเสด็จพระราชธิดาเข้าเฝ้าที่ข้างพระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรพระราชธิดาแล้วทรงพระกันแสง เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร เจ้าพระยารามราฆพเตรียมจะเชิญเสด็จพระราชธิดากลับที่ประทับ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงพระอาการขอให้พระราชธิดาอยู่ต่อไป แล้วทรงพยายามมีพระราชดำรัสแต่แผ่วเบาจนไม่มีผู้ใดเข้าใจได้ ต่อมาทรงหลับพระเนตร เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญเสด็จพระราชธิดากลับที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หายพระทัยแผ่วลง และเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง

       
          เนื่องจากเสด็จสวรรคตเวลา 01.45 น. ล่วงมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เพียงไม่กี่นาที พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้ใช้วันที่ 25 พฤศจิกายนเป็นวันสวรรคต และ ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546

       
          พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

            ด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยดำเนินการตามแบบโรงเรียนกินนอน (Public School) ชั้นดีของประเทศอังกฤษ มีการสอนและอบรมเด็กชายให้เป็นสุภาพบุรุษ ใช้ระบบให้นักเรียนปกครองกันเอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่าวชิราวุธวิทยาลัย นอกจากนั้นยังทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ เพื่อควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้มีประสิทธิภาพ ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา โดยมีสาระสำคัญคือให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ได้เรียนหนังสืออยู่จนกระทั่งอายุ 14 ปีบริบูรณ์ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       
          ด้านการศาสนา ทรงรอบรู้ในหลักพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพบพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย องค์พระชำรุดมาก แต่ส่วนอื่นๆ ยังดีอยู่ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างปั้นและหล่อองค์พระขึ้นใหม่มีขนาดสูง 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปยืน พระราชทานนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” ประดิษฐาน ณ พระวิหารโถงด้านหน้าของพระปฐมเจดีย์

       
          ด้านการเศรษฐกิจ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งคลังออมสินขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จัดประหยัดเก็บสะสมทรัพย์และนำเงินไปฝากไว้อย่างปลอดภัย ต่อมาคลังออมสินได้พัฒนาขึ้นจนเป็นธนาคารออมสินในปัจจุบัน ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อประเทศชาติรุ่งเรืองขึ้นในภายหน้าจะต้องมีการก่อสร้างบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ และสถานที่ราชการตามแบบอารยประเทศจำเป็นต้องใช้ซีเมนต์เป็นจำนวนมาก จึงทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทยขึ้น

       
          ด้านการคมนาคม ทรงปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟ การเจาะอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดลอดเขาขุนตานก็เป็นผลสำเร็จในรัชสมัยของพระองค์จึงได้เริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ ทรงเปิดรถด่วนระหว่างประเทศสายใต้ติดต่อกับรถไฟมลายู (มาเลเซีย) จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงตั้งกรมอากาศยานทหารบก เริ่มการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศระหว่างกรุงเทพไปยังจันทบุรีเป็นครั้งแรก

          ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งวชิรพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งสถานเสาวภา เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยชีวิตผู้ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดและทำเชื้อป้องกันโรคระบาดเป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย

       
          ด้านการปกครองและการฝึกสอนประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครองนี้จากประเทศอังกฤษ เนื่องจากในขณะนั้นระบอบประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องใหม่จึงทรงให้ทดลองระบอบประชาธิปไตยทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทยและประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ทรงจัดตั้ง The New Republic (สาธารณรัฐใหม่) ที่กรุงปารีส และเมืองมังในบริเวณพระตำหนักจิตรลดาเดิม หลังที่สุดทรงทดลองระบอบประชาธิปไตยคือสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท


       
          ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยทรงมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหารซึ่งจะทำให้เป็นราษฎรที่มีคุณภาพ มีวินัย เคารพกฎหมายบ้านเมือง นอกจากกองเสือป่าแล้วยังทรงริเริ่มจัดตั้งกองลูกเสือ กองลูกเสือกองแรกจัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันเพื่อฝึกเยาวชนให้มีคุณสมบัติที่ดี มีความสามัคคี ความมานะอดทน และเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นผู้ช่วยรบได้ในยามคับขัน

       
          ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรงประกาศนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี โดยทรงส่งอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป การเข้าร่วมสงครามในครั้งนั้นเป็นผลดีแก่ประเทศ ในฐานะผู้ชนะสงครามทำให้สยามได้มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเนื่องจากการที่สยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการีโดยฝ่ายสยามได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงชาติที่มี 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ตามลักษณะธงชาติของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกว่า “ธงไตรรงค์”

       
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวรรณกรรมเป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งโขน ละคร พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท บทความในหนังสือพิมพ์ และร้อยกรอง พระนามแฝงที่ทรงใช้มีอยู่มาก เช่น ศรีอยุธยา รามจิตติ อัศวพาหุ ผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาก อาทิ มัทนะพาธา พระนลคำหลวง หัวใจนักรบ ท้าวแสนปม เวนิสวานิช จึงทำให้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

          ขอขอบคุณภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลงสีจากเพจ colouredbysebastianpeet

          และภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว